JoopIE's Blog

Finding Others Lifestyles

Thursday, May 11, 2006

เพื่ออนาคตทางการเงิน : ทำบัญชีรายรับรายจ่าย

อยากมีเงินเยอะๆกันไหมครับ อยากให้ตัวเลขยอดเงินในบัญชีธนาคารของเรามันเพิ่มขึ้นเรื่อยๆไหมครับ เรื่องคำตอบคงไม่ต้องพูดถึง แต่วิธีการที่จะให้มันเป็นไปอย่างที่เราตอบนี่สิ ทำยังไงล่ะ

การที่เราจะมีเงินเพิ่มขึ้นมาได้มีอยู่สองวิธี วิธีแรกคือเพิ่มรายได้ วิธีที่สองคือลดรายจ่าย
ทั้งสองวิธีเป็นวิธีที่ท้าทายและทำยากพอๆกัน แต่หากคุณทำงานประจำ คุณคงคิดว่าวิธีที่สองคงจะง่ายกว่าแล้วใช่ไม๊ครับ ผมจะมอบเครื่องมือตัวหนึ่งที่ใช้ได้อย่างมีประสิทธิผลในการลดรายจ่ายของคุณ นั่นคือ การทำรายรับรายจ่าย

อีก 1 เดือนจะครบรอบสองปีที่ผมเริ่มทำรายรับ-รายจ่ายประจำวัน ตอนเริ่มต้นทำวันแรก ผมก็คิดแค่ว่าก็ทำๆมันไปงั้นๆแหล่ะ เห็นคนอื่นเค้าทำกัน ไม่รู้ว่ามันดียังไง ช่วงแรกๆจะลืมบ่อยมาก เคยดองไว้เป็นอาทิตย์แล้วค่อยมานั่งนึกว่าช่วงอาทิตย์ที่ผ่านมานี้เราใช้จ่ายอะไรไปบ้าง แต่พอผ่าน 3 เดือนแรกไปได้ คุณจะเริ่มรู้สึกว่ามันเป็นสิ่งที่ต้องทำไปเสียแล้ว ถ้าไม่ได้ทำคุณจะเกิดความกังวลใจขึ้นมาทันทีว่าเราได้ใช้จ่ายอะไรไปโดยที่เราไม่รู้ตัวหรือเปล่านี่ เรามีรายจ่ายงี่เง่าๆ ที่ควรกำจัดออกไปหรือเปล่าหนอ ( ไม่รู้เป็นเฉพาะผมหรือเปล่านะนี่ ) ถ้าคุณไม่เคยทำรายรับ-รายจ่าย ผมจะบอกคุณว่า "คุณมีโอกาสที่จะเป็นคนที่ใช้จ่ายอย่างไม่มีวินัยสูงมาก "

ผมจะยกตัวอย่างง่ายๆให้คุณลองคิดตามดูนะครับ สมมติว่าวันจันทร์ก่อนออกจากบ้าน คุณนำเงินเข้ากระเป๋าไปเท่าไหร่ไม่รู้ ไม่ได้จำ รู้แต่ว่ามันก็เป็นจำนวนที่เคยพอเพียงสำหรับใช้จ่ายในหนึ่งอาทิตย์ จนวันหนึ่งก่อนถึงวันจันทร์หน้า คุณเปิดกระเป๋ามาด้วยความแปลกใจว่าเงินคุณหายไปไหนหมด หรือคุณอาจจะไม่ทันได้คิดก็ได้ว่าคุณใช้เงินอะไรไปบ้าง คุณจะทำแค่เพียงเดินไปที่ตู้ ATM ที่ใกล้ที่สุด หรือไม่ก็ใช้จ่ายต่อไปด้วยบัตร Hell Credit ของคุณ (รุนแรงไปไม๊ครับคำนี้) แล้วทุกอย่างก็จบ รอความเศร้าใจอีกทีตอนคุณไป Update book ของคุณที่ธนาคารแล้วถามตัวเองว่า "ทำไมมันเหลือแค่นี้วะ" หรือไม่ก็ตอนที่ใบแจ้งหนี้บัตร credit ของคุณมาถึง ตอนนั้นเองที่คุณเพิ่งจำได้ว่าคุณใช้จ่ายอะไรผ่านบัตร credit ไปบ้าง ผมเชื่อว่ามีน้อยคนที่จะจดหรือจำไว้ ว่าเราใช้จ่ายอะไรผ่านบัตร credit ไปบ้างในช่วงเดือนที่ผ่านมา ทั้งหมดที่ผมกล่าวมานี้คือผลสรุปของการใช้จ่ายอย่างไม่มีวินัย

ที่นี้ผมจะบอกคุณว่ามีอะไรเกิดขึ้นบ้าง หากคุณใช้จ่ายโดยไม่ได้ทำรายรับรายจ่ายอย่างเป็นระบบและสม่ำเสมอ มันมีสิ่งที่ผิดเกิดขึ้นอยู่เสมอเมื่อคุณกำลังจะใช้จ่าย สิ่งนั้นก็คือ " สิ่งที่คุณคิด" ผมอยากให้คุณลองสังเกต สิ่งที่คุณคิดก่อนที่คุณจะใช้จ่าย ถ้าสิ่งนั้นคือ "ไม่มี" คุณคือสุดยอดผู้ไม่มีวินัยในการใช้จ่ายแล้วครับ แม้มันเป็นเรื่องปกติมากที่คุณจะกินอะไร ซื้ออะไร ใช้จ่ายอะไร ไปโดยบอกตัวเองแค่ว่า "ก็ฉันอยากกิน หรือ ก็ฉันอยากได้นี่นา" แต่ในเมื่อคุณไม่ได้คิดก่อนที่จะใช้จ่าย มันก็คงไม่ใช่เรื่องแปลกที่ "เงิน" ของคุณมันมาเร็ว ไปเร็ว และน้อยลงทุกวัน ก็ภายใต้เงื่อนไขนี้ มันนำมาซึ่งรายจ่ายที่ไม่จำเป็นมากมายนี่นา (ผมนิยมเรียกมันว่ารายจ่ายงี่เง่า) ในส่วนนี้ผมแนะนำอะไรไม่ได้มากนอกเสียจากว่า "โปรดคิดก่อนที่จะปล่อยให้มือของคุณหยิบเงินในกระเป๋าออกไปซื้ออะไรก็ตามว่าสิ่งนั้นมันจำเป็นหรือไม่" จะแนะนำกันว่าให้คุณท่องไว้ครับ ระหว่างที่คุณจะจ่ายเงิน ให้ท่องว่า"มันจำเป็น มันจำเป็น มันจำเป็น" หากผ่านสามคำนี้ไปได้โดยไม่รู้สึกอะไร ก็จงจ่ายไปด้วยความยินดีครับ :D

พล่ามมาตั้งนานแล้วเรามาเข้าถึงวิธีการทำรายรับรายจ่ายอย่างมีระบบกันนะครับ (ทำไมต้องมีคำว่าอย่างเป็นระบบ โปรดอ่านต่อไปครับผม)

1. ประมาณรายจ่ายของเดือน-สัปดาห์-วัน
ถามว่ากำหนดมาจากไหน คำตอบคือ กำหนดมาจาก "คุณ" เริ่มต้นที่รายได้ของคุณน่าจะง่ายที่สุดสำหรับผู้เริ่มต้นนะครับ กล่าวคือ หากคุณมีรายได้เดือนละ 20,000 บาท คุณก็กำหนดขึ้นมาเองว่าจะ saving 20% ของรายได้ เป็นเงินส่วนที่จะไม่ทำอะไรกับมันอย่างแน่นอนหากไม่มีเหตุฉุกเฉิน หรือเหตุจำเป็นจริงๆ มาถึงตอนนี้คุณก็จะมีเงินหลังหักส่วน saving ไปแล้วเท่ากับ 16,000 บาท เป็นเงินจำนวนที่คุณสามารถใช้ได้เต็มที่ภายในหนึ่งเดือน หากหมดเดือนแล้วเงินคุณเหลือเท่ากับ 0 บาทก็ถือว่าโอเค ไม่ได้ใช้จ่ายเกินแต่อย่างใด แต่จริงๆแล้วก็คือควรจะเหลือนะผมว่า

ต่อไปเรามาคิดต่อว่าจะแบ่งสรรปันส่วนอย่างไร ให้เงิน 16,000 ที่เรามีอยู่นี้ ถูกใช้ไปอย่างมีค่าที่สุด และที่น่าจะเกิดขึ้นก็คือ "ใช้ไม่หมด" ก็มันจะได้เหลือไว้ให้เราเผื่อเหลือเผื่อขาดในเดือนที่คุณเกิดจำเป็นต้องใช้เงินเกิน 16,000 บาทน่ะสิ เพื่อที่ว่ามันจะได้ไม่กระทบเงินในส่วน saving ที่เราห่วงนักห่วงหนาว่ามันจะไม่เพิ่มนั่นแหล่ะครับ เริ่มต้นจากการคิดค่าใช้จ่ายที่จำเป็นรายเดือน เช่น ค่าน้ำ ค่าไฟ ค่าเช่าบ้าน แล้วไปต่อที่ค่าใช้จ่ายที่จำเป็นรายสัปดาห์ เช่น ค่านันทนาการ (สมมติว่าคุณต้องไปเล่นกีฬากับกลุ่มเพื่อนของคุณทุกวันเสาร์ แล้วไปต่อกันด้วยอาหารซักมื้อ ซึ่งก่อให้เกิดค่าใช้จ่ายเท่ากับเท่าไหร่ก็ว่าไป) ในส่วนนี้เมื่อคิดได้แล้วก็อย่าลืมคูณ 4 เข้าไปด้วยนะครับ ต่อไปก็ค่าใช้จ่ายที่จำเป็นรายวัน เช่น ค่าอาหาร ค่าเดินทาง

เอาล่ะ มาถึงตรงนี้ เพื่อให้เห็นภาพมากขึ้น ผมจะลองสมมติตัวเองเหล่านี้ดูนะครับ
ค่าใช้จ่ายที่จำเป็นรายเดือน
-ค่าน้ำ 200 บาท
-ค่าไฟ 2000 บาท
-ค่าโทรศัพท์ 700 บาท
-Donation 100 บาท

รวมได้ 3000 บาท

ค่าใช้จ่ายที่จำเป็นรายสัปดาห์
-ค่านันทนาการ 500 บาท
-ค่าสังสรรค์ครอบครัว 500 บาท (เช่นพาครอบครัวไปทานข้าวนอกบ้าน)
-ค่าสังสรรค์กับคนรัก 500 บาท ( หากเป็นแฟนแต่ยังไม่ได้แต่งงานกัน ก็ต้องมีค่าใช้จ่ายนอกเหนือจากคำว่าครอบครัวใช่มะ)
-ค่าสังสรรค์กับเพื่อนๆ 500 บาท (เพื่อนเราก็ช่างชวนไปหาเรื่องเสียเงินจริงๆ)

รวมแล้วแบบไม่ลืมคูณ 4 เข้าไปก็เป็น 8000 บาท

ค่าใช้จ่ายที่จำเป็นรายวัน
-ค่าอาหาร 150 บาท
-ค่าเดินทาง 50 บาท
-เบ็ดเตล็ด 50 บาท ( เช่นค่าขนมนมเนยนอกรอบอาหารสามมื้อ)

รวมแบบคิดแค่ 20 วันต่อเดือนนะ เอาแบบว่าวันที่ต้องไปทำงาน ก็จะได้ 5000 บาท
รวมทั้งหมดก็ 16,000 บาทพอดี โอ้ ไม่ได้ตั้งใจเลยนะเนี่ย :D

2. ทบทวนข้อหนึ่ง แล้ว ตัด ตัด ตัด
หากคุณพอใจแล้วกับรายจ่ายที่เกิดขึ้นในข้อ 1 ให้คุณข้ามข้อนี้ไปได้เลยครับ แต่ผมมั่นใจว่าร้อยละ 99 จะอ่านข้อสองต่อ :P เพราะผลรวมรายจ่ายจากข้อหนึ่งทำไมมันไม่โสภาเอาเสียเลย หากคุณลองไปทำตามข้อหนึ่งดูแล้วให้คุณสังเกตว่าค่าใช้จ่ายที่จำเป็นรายสัปดาห์มันมักจะสูงที่สุดเสมอ ทั้งที่จริงๆแล้วน่าจะเป็นค่าใช้จ่ายที่จำเป็นรายวันที่คูณ 20 ไปแล้วต่างหากที่น่าจะสูงที่สุด เหตุผลง่ายๆมีอยู่ว่า ค่าใช้จ่ายที่จำเป็นรายสัปดาห์มันไม่ใช่ค่าใช้จ่ายที่จำเป็นจริงๆรายสัปดาห์น่ะสิ

อย่างเช่น ค่าสังสรรค์กับเพื่อนๆของคุณ ถ้าคุณเปลี่ยนจากทุกอาทิตย์เป็นทุกสองอาทิตย์ เงินของคุณก็จะเหลือกลับมาทันที 1000 บาท หากคุณจะคิดว่าไม่ได้ๆ ผมต้องไปเข้ากลุ่มกับเพื่อนๆทุกอาทิตย์ เพราะว่าผมเป็นพวกขาดเพื่อนไม่ได้ ผมจะบอกคุณว่าให้เปลี่ยนค่าสังสรรค์นี้เป็นค่าโทรศัพท์ในการโทรไปหาเพื่อนแทน รับรองว่าคุณใช้เงินน้อยว่า 500 บาทต่อสัปดาห์แน่ หรือไม่ก็ลองคิดดูว่า อนาคตทางการเงินของคุณกับความสนุกสนานชั่วครั้งชั่วคราวกับเพื่อนๆคราวนี้อะไรสำคัญกว่ากัน

ต่อไป ค่าสังสรรค์กับคนรัก เช่นเดียวกันถ้าคุณเปลี่ยนจากทุกอาทิตย์เป็นทุกสองอาทิตย์ เงินของคุณก็จะเหลือกลับมาทันทีอีก 1000 บาท หากคุณจะคิดว่าไม่ได้ๆ ผมต้องดูแลแฟนของผมอย่างดีที่สุด เราจะต้องเจอกันอย่างน้อย อาทิตย์ละครั้ง ไม่งั้นผมจะขาดใจ คุณลองเปลี่ยนค่าใช้จ่ายส่วนนี้ไปเป็นค่าโทรศัพท์หาแฟนคุณก็ได้ รับรองว่ามันจะเหมือนกับกรณีค่าสังสรรค์กับเพื่อนๆล่ะครับ หรือไม่ก็บอกแฟนคุณไปตรงๆเลยครับ ว่าคุณต้องการออมเงินไว้สู่ขอเค้า รับรองว่าเค้าเห็นดีเห็นงาม และยินดีเป็นอย่างยิ่งที่คุณกับเค้าจะสังสรรค์กันน้อยลงในวันนี้

สำหรับข้ออื่นก็ขอให้ลองไปตัด ตัด ตัด ดูนะครับ มันตัดได้เยอะมาก เช่น ค่าอาหารรายวัน ผมคิดที่ 50 บาท/มื้อ ถ้าคุณจะงกสุดๆก็ลองเปลี่ยนเป็น 20/ มื้อแล้วคิดว่าจะกินมาม่าตลอด ก็ลองดูครับ คุณจะเหลือเงินอย่างน้อยๆ อีก เดือนละ 600 บาท ลองคิดไปคิดมา ตัดไปตัดมา ผมว่าไม่น่าจะใช้เกิน 13,000 บาทนะครับ คุณก็ใช้ชีวิตได้อย่างสบายๆ สมถะ มีเงินเหลือเก็บเหลือออม หรือจะเอาไปลงทุนทำมาหากินกับหุ้น พันธบัตร กองทุน หรือแม้แต่สร้างธุรกิจของคุณเองก็ย่อมเป็นไปได้

3. จำกัดงบประมาณที่จะใช้จ่ายในแต่ละวัน
วิธีที่ผมชอบในการบังคับให้เราทำตามข้อสามนี้ก็คือ ใส่เงินในกระเป๋าเท่ากับจำนวนเงินสูงสุดที่เราตั้งเป้าหมายว่าเราจะไม่ใช้เกินนี้ เพราะถึงเราอยากจะใช้เกิน ก็ไม่มีให้ใช้ :D ยกตัวอย่างเช่น หลังจากที่ผมประมาณไว้ในข้อหนึ่ง ตัด ตัด ตัด เรียบร้อย ในข้อสอง ผมได้เป้าหมายสุดท้ายมาว่า ผมไม่ควรใช้เงินเกินวันละ 100 บาท ผมก็จะให้มีเงินในกระเป๋าไม่เกินวันละ 100 บาท เท่านี้เองครับ ง่ายๆใช่ไหมครับ

4. เมื่อมีเหตุให้ต้องใช้เงินเกินที่ตั้งเป้าหมาย
มันเกิดขึ้นแน่นอน มันเกิดขึ้นแน่ๆ และมันเกิดขึ้นบ่อยๆ ทำยังไงดีล่ะ
4.1 ถามตัวเองก่อนว่า"มันจำเป็นไม๊" ถ้าคำตอบคือใช่ ก็เดินไปที่ ATM หรือไม่ก็เพิ่งบัตรเทพเจ้าของคุณ แต่ถ้าคำตอบคือ ไม่ ก็ไม่ต้องคิดอะไรมาก มันจบ
4.2 ถามตัวเองต่อไปหลังจากได้จ่ายหรือไม่ได้จ่ายเงินจำนวนนี้ไป ว่า "ทำไมมันเกิดขึ้น" "มันอยู่นอกเหนือการทำข้อ 1 ของเราได้อย่างไร" ถ้าตอบตัวเองได้แล้ว คุณมีทางเลือกว่าจะกลับไปแก้ข้อ 1 ใหม่ หรือไม่ก็อย่าทำให้มันเกิดขึ้นอีก ง่ายมะๆ

5. บันทึกทุกบาททุกสตางค์ที่เข้า-ออกจากกระเป๋าสตางค์ของคุณไว้
ข้อนี้สำคัญมาก ไม่งั้นมันจะเรียกว่าการทำรายรับรายจ่ายได้อย่างไร อย่าลืมแบ่งแยกช่องในตารางเป็นรายจ่ายในส่วนใด แบบใด ไว้ด้วยนะครับ จะได้ง่ายต่อการตรวจสอบเมื่อครบสัปดาห์หรือครบเดือน วันใดที่คุณใช้เงินเกินที่คุณตั้งเป้าหมายไว้ ให้ใส่สีแดงไว้ที่วันนั้น พอครบอาทิตย์แล้ว ให้คุณตั้งใจอย่างแน่วแน่ว่า ฉันจะทำให้มันมีสีแดงน้อยลง จนถึงสัปดาห์ที่มันไม่มีสีแดง ต่อเนื่องกันซักเดือน นั่นคือคุณเริ่มประสบความสำเร็จทางการเงินเบื้องต้นแล้วครับ

สุดท้ายนี้ที่ติดเอาไว้ว่าทำไมต้องมีคำว่า อย่างเป็นระบบด้วย คำตอบก็คือหากคุณทำอย่างไม่เป็นระบบ คุณก็แค่บันทึก บันทึก บันทึก เงินที่เข้าออกจากกระเป๋าสตางค์ของคุณไปเรื่อยๆ ไม่มีอะไรมากกว่านั้น ซึ่งมันก็มีประโยชน์เหมือนกัน หากคุณกลับมาสังเหตพฤติกรรมการใช้จ่ายของคุณ จากรายรับรายจ่ายนั้น แล้วปรับปรุงแก้ไข แต่มันก็ไม่ทำให้เงินของเราเพิ่มอย่างเป็นรูปธรรมซักเท่าไหร่หรอกครับ ทางที่ดีก็คือจงคิดและทำรายรับรายจ่ายอย่างเป็นระบบ นั่นแหล่ะครับ ที่ผมกล่าวมาทั้งหมดนี้ผมคิดว่าคงไม่ถูกต้องตามหลักวิชาการอะไรมากนัก เพราะผมเน้นที่เกิดขึ้นจากประสบการณ์จริงมาเล่าต่อให้ทุกท่าน ก่อนจะจบไปก็ ขอบอกเคล็ดลับความสำเร็จหนึ่งเดียวในการประสบความสำเร็จทางการเงินด้วยการทำรายรับรายจ่ายไว้ ณ ที่นี้ นั่นคือ "การควบคุมจิตใจของตนเอง" สวัสดีครับ

9 Comments:

  • At 12:54 AM, Anonymous Anonymous said…

    แวะผ่านมา
    เป็นเทคนิคที่ดีมากๆ ไงขอเอาไปใช้ด้วยนะคับ
    thk. คับ

     
  • At 7:29 PM, Anonymous Anonymous said…

    แวะผ่านมาเหมือนกัน ทำแบบเดียวกันเลย แต่ตบะแตกบ่อยๆ เพิ่งกลางเดือนนะนี่เงินจะหมดแล้ว...จะพยายามด้วยเหมือนกัน...

     
  • At 3:41 AM, Anonymous Anonymous said…

    ขอบคุนมากๆเรยนะค่ะ

    สำหรับแนวทางที่ดีๆ

    จะนำปายใช้ค่ะ

     
  • At 9:27 PM, Anonymous Anonymous said…

    Thank you for your suggest!!

    Pa!

     
  • At 7:57 AM, Blogger Unknown said…

    เป็นแนวทางที่ดีมากๆเลยค่ะ
    กำลังหัดออมเงินอยู่เลยค่ะ

     
  • At 6:50 AM, Anonymous Anonymous said…

    ขอบคุณเทคนิคดีๆครับ.....
    ขอนำเทคนิคนี้ไปใช้นะครับที่ผ่านมา
    แค่กลางเดือนก็ช็อตแล้ว-*-
    สุขใดไม่เท่าล้วงกระเป๋าแล้วเจอตัง ;)

     
  • At 7:22 PM, Anonymous Anonymous said…

    ทำบัญชีรายรับรายจ่ายอนไลน์ เชิญเว็บนี้ครับ
    http://www.rubjai.com

     
  • At 12:50 AM, Blogger โปโก๊ะ said…

    ขอบคุณที่นำเทคนิคดีๆมาบอกต่อคะ

     
  • At 1:51 AM, Blogger Nat KT said…

    ขอบคุณครับ
    ออมแล้วไม่อด จดแล้วไม่จน :)

     

Post a Comment

<< Home